การปฏิวัติและนโปเลียน (ค.ศ. 1789 – 1815) ของ ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส

ดูบทความหลักที่: การปฏิวัติฝรั่งเศส

ใน ค.ศ. 1789 พระเจ้าหลุยส์ทรงเรียกประชุมสภาฐานันดร ซึ่งไม่ได้ประชุมมาแล้วเป็นเวลานานประมาณสองร้อยปี เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สภาฐานันดร ประกอบไปด้วยสามชนชั้น ได้แก่ ชนชั้นขุนนาง ชนชั้นบรรพชิตบาทหลวง และสามัญชน ซึ่งในการผ่านร่างพระราชบัญญัติแต่ละฐานันดรออกเสียงได้เพียงหนึ่งเสียง ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการออกเสียง ฐานันดรที่ 3 หรือ สามัญชน ประกอบไปด้วยคนส่วนใหญ่ของประเทศฝรั่งเศส แต่กลับออกเสียงได้เพียงหนึ่งเสียง ในขณะที่ขุนนางและบาทหลวงสามารถออกเสียงได้ถึงสองเสียง ทำให้ฐานันดรที่สามไม่สามารถออกเสียงชนะฝ่ายขุนนางและบรรพชิตได้ พระเจ้าหลุยส์ตรัสว่าจะให้ฐานันดรที่สาม มีเสียงเป็นสองเท่าของสองฐานันดรแรก แต่เมื่อถึงเวลาประชุมสภาฐานันดรพระเจ้าหลุยส์ตรัสให้สภาออกเสียง "ตามพระราชโองการ" ฐานันดรที่สามจึงแยกตัวออกไปเป็น สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly)

สมัชชาแห่งชาติ (ค.ศ. 1789 – 1791)

คำสาบานสนามเทนนิส

พระเจ้าหลุยส์มีพระราชโองการให้ปิดสถานที่ประชุมของฐานันดรที่ 3 ทำให้บรรดาสมาชิกสภาสมัชชาแห่งชาติไม่สามารถเข้าอาคารประชุมได้ จึงเข้าประชุมที่สนามเทนนิสข้างเคียงและให้คำปฏิญาณสนามเทนนิส (Tennis Court Oath) พระเจ้าหลุยส์ทรงรับรองสมัชชาแห่งชาติ สมัชชาแห่งชาติจึงเปลี่ยนสภาพเป็น สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ (National Constituent Assembly) ในเวลาเดียวกันทัพฝรั่งเศสและทหารรับจ้างเยอรมันตามชายแดนเริ่มคืบเข้ามาประชิดกรุงปารีส และพระเจ้าหลุยส์ทรงปลดฌักส์ เน็กแกร์ ซึ่งให้การสนับสนุนแก่กลุ่มฐานันดรที่สามออกจากตำแหน่ง ทำให้ประชาชนชาวเมืองปารีสไม่พอใจ ลุกฮือบุกไปเอาดินปืนที่คุกบาสตีย์ เพื่อเอาไปป้องกันเมืองปารีส แต่เกิดการปะทะกับผู้รักษาการป้อมบาสตีย์ กลุ่มผู้ประท้วงสังหารตัดศีรษะผู้รักษาการและแห่ศีรษะไปตามถนน และสังหารนายกเทศมนตรีแห่งปารีส

เหตุการณ์นี้ทำให้พระเจ้าหลุยส์ต้องทรงรับรองธงตรีกอลอร์หรือธงไตรรงค์สามสีให้เป็นธงประจำชาติฝรั่งเศส แทนที่ธงของราชวงศ์บูร์บงเดิม เหตุการณ์ความรุนแรงทำให้เหล่าขุนนางและพระราชวงศ์ต่างพากันหลบหนีออกนอกฝรั่งเศส เรียกว่า กลุ่มเอมิเกร (émigre)

ในสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญเองแบ่งเป็นสองฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายขวาอนุรักษนิยม ต้องการรักษาการปกครองแบบเก่า กับฝ่ายซ้ายซึ่งมีแนวคิดเสรีนิยมต้องการการปฏิวัติ นักปฏิวัติที่ได้รับการเคารพนับถือที่สุด ชื่อว่ามิราโบ ซึ่งเสนอแนวทางแก้ปัญหาของประเทศหลายอย่างและพยายามประสานความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองแต่ไม่เป็นผล ในค.ศ. 1790 สมัชชาแห่งชาติประกาศ "คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง" (Declaration of the Rights of Man and Citizen) ประกาศเสรีภาพต่างๆ ล้มเลิกระบอบขุนนาง ในเวลาเดียวพระเจ้าหลุยส์ยังทรงพยายามเรียกกองทัพจากชายแดนเข้ามาเพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลง และทรงจัดงานเลี้ยงลบหลู่ธงไตรรงค์ที่พระราชวังแวร์ซาย ชาวปารีสเมื่อทราบข่าวจึงก่อการจลาจล กองกำลังติดอาวุธของประชาชน (National Guard) มาบุกยึดพระราชวังแวร์ซาย ทำให้พระเจ้าหลุยส์และพระราชวงศ์ต้องเสด็จหนีไปประทับที่พระราชวังตุยเลอรีส์ในกรุงปารีสแทน

อีกนโยบายหนึ่งของสมัชชาแห่งชาติคือการทำบรรพชิตให้เป็นพลเมือง (Civil Constitution of Clergy) ทำให้สถานะของบาทหลวงและสถาบันศาสนาคริสต์เท่าเทียมและไม่แตกต่างจากประชาชนทั่วไป มีบาทหลวงจำนวนมากที่ไม่ยอมรับนโยบายของสมัชชาแห่งชาติต่างหลบหนีซ่อนตัวตามชนบท เสรีภาพทำให้เกิดแนวความคิดและสมาคมทางการเมืองขึ้นมามากมาย ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือสโมสรฌากอแบ็ง (Jacobin)

ใน ค.ศ. 1791 พระเจ้าหลุยส์ทรงพยายามจะหลบหนีออกนอกประเทศฝรั่งเศส แต่ด้วยขบวนเสด็จที่หรูหรา ทำให้ทรงถูกจับได้ที่เมืองวาเรนส์ ประชาชนเกิดความตระหนกว่าว่าพระเจ้าหลุยส์จะทรงยึดอำนาจคืน จึงชุมนุมที่ทุ่งชองป์-เดอ-มาส์ แต่ถูกทหารรัฐบาลปราบปรามอย่างรุนแรง จักรพรรดิลีโอโพลด์ที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระเชษฐาของพระนางมารีอังตัวเนต จึงทรงขอความสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ ให้ฟื้นฟูพระราชอำนาจคืนให้แด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 การร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1791 สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง กลายเป็น สภานิติบัญญัติ (Legislative Assembly) ฝรั่งเศสจึงกลายเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

สภานิติบัญญัติ (ค.ศ. 1791 – 1792)

ภายในสโมสรฌากอแบ็งแบ่งเป็นสองฝ่าย ได้แก่ สมาคมเฟยยองต์ (Feuillant) สนับสนุนราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และสมาคมฌีรงแด็ง (Girondin) มีความคิดเสรีนิยมรุนแรง ภัยคุกคามทางทหารจากต่างชาติทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศกฎอัยการศึกใน ค.ศ. 1792 สมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระโอรสจักรพรรดิลีโอโพลด์ ประกาศสงครามกับฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1792 ฝ่ายฝรั่งเศสส่งมาร์ควิสแห่งลาฟาแยตบุกเนเธอร์แลนด์ของออสเตรีย ในขณะที่ปรัสเซียส่งดยุกแห่งเบราน์ชไวก์ยกทัพรุกรานปารีส ดยุกแห่งเบราน์ชไวก์ประกาศคำประกาศเบราน์ชไวก์ (Brunswick Manifesto) ว่าหากรัฐบาลฝรั่งเศสไม่ยุติการเปลี่ยนแปลงการปกครองทางปรัสเซียจะนำกำลังทหารเข้าแก้ไข เมื่อดยุกแห่งเบราน์ชไวก์ยกทัพบุกฝรั่งเศส ทำให้ชาวฝรั่งเศสเกิดความโกรธแค้น จับนักโทษการเมืองในคุกออกมาสังหารอย่างโหดเหี้ยมหลายพันคน เรียกว่า การสังหารหมู่เดือนกันยายน (September Massacre) ในแคว้นวังเด (Vendée) ฝ่ายนิยมราชาธิปไตยก่อการลุกฮือต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การปกครองของรัฐบาลฝรั่งเศสไม่มีผลอีกต่อไป นักการเมืองสายกลางถูกกำจัดออกไปจนเกือบหมดสิ้นเหลือเพียงนักการเมืองเสรีนิยมรุนแรง นำไปสู่การสิ้นสุดของสภานิติบัญญัติและจัดตั้ง สภากองวังเชียง (National Convention)

สภากงว็องซียง (ค.ศ. 1792 – 1794)

สำเร็จโทษ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16

ใน ค.ศ. 1793 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกสำเร็จโทษโดยการบั่นพระศอด้วยเครื่องกิโยติน ชาติอื่นๆในยุโรปต่างหวั่งเกรงในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของฝรั่งเศส เกรงว่าความคิดเสรีนิยมจะเผยแพร่มาสู่ประเทศของตน จึงจัดตั้งสัมพันธมิตรครั้งที่ 1 (First Coalition) เพื่อสู้รบกับรัฐบาลปฏิวัติฝรั่งเศส ฝ่ายทัพฝรั่งเศสชนะกองทัพต่างชาติในยุทธการที่วาลมี และสามารถยึดเมืองนีซ และแคว้นซาวอยได้ ใน ค.ศ. 1792 และโมนาโค ในค.ศ. 1793 กลุ่มฌีรงแด็งเสรีนิยมรุนแรง เรียกว่า กลุ่มมงตาญาร์ (Montagnard) หรือกลุ่มฌากอแบ็ง ได้แก่ รอแบ็สปีแยร์ (Robespierre) ดังตอง (Danton) ขึ้นมามีอำนาจในสภากงว็องซียง เพราะภาวะสงครามทำให้ประเทศต้องการผู้นำที่เด็ดขาด กลุ่มฌากอแบ็งยกทัพบุกสภากองวังเชียงทำการยึดอำนาจ ทำให้กลุ่มฌีรงแด็งกลุ่มอื่นๆถูกขับพ้นจากอำนาจ ในขณะที่แคว้นวังเดซึ่งสนับสนุนราชาธิปไตยสร้างความรุนแรงมากขึ้น ฝ่ายรัฐบาลปฏิวัตินำกำลังทหารเข้าปราบปรามแคว้นวังเดอย่างรุนแรง จากแคว้นวังเดกลายเป็นดินแดนรกร้างปราศจากผู้คน นอกจากนั้นรัฐบาลยังประกาศเกณฑ์ประชาชนทุกคนชายหญิงเด็กและคนชราให้มาทำงานในกองทัพ

รอแบ็สปีแยร์ประกาศความน่าสะพรึงกลัว (Terror) เพื่อสร้างภาพลักษณ์อันโหดเหี้ยมให้รัฐบาลปฏิวัติฝรั่งเศส และประกาศ Law of Suspects นักโทษการเมืองไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และจัดตั้งศาลปฏิวัติ (Revolutionary Tribunal) ไว้ตัดสินนักโทษทางการเมืองด้วยการบวนการยุติธรรมซึ่งรวดเร็วและไม่โปร่งใส พระนางมารี อังตัวเนต พระราชวงศ์ กลุ่มเฟยยองต์ กลุ่มฌีรงแด็ง กลุ่มกษัตริย์นิยม และประชาชนอื่นๆ ต่างต้องสังเวยต่อเครื่องกิโยติน รอแบ็สปีแยร์ให้ชาวฝรั่งเศสเลิกนับถือคริสต์ศาสนา เลิกใช้คริสต์ศักราช หันมาใช้ศักราชปฏิวัติแทน โดยนับปี ค.ศ. 1793 เป็นปีที่ 1 และมีการตั้งศาสนาใหม่ คือ ลัทธิแห่งเหตุผล (Cult to Reason) นับถือเทพธิดาชื่อว่า "เหตุผล"

แม้ภายในประเทศจะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง แต่ฝรั่งเศสก็สามารถเอาชนะทัพของชาติต่าง ๆ ที่เข้ามารุกรานฝรั่งเศสได้ ถึงเวลานี่กลุ่มฌากอแบ็งแก่งแย่งอำนาจกันเอง ดังตองถูกกิโยติน ในค.ศ. 1794 เหลือรอแบ็สปีแยร์ผู้เดียวที่ทรงอำนาจสูงสุด ประกาศลัทธิแห่งความเป็นเลิศ (Cult of Supreme Being) เป็นศาสนาใหม่อีกศาสนา และประกาศกฎมหามิคสัญญี (Law of the Great Terror) มิให้นักโทษการเมืองแต่งพยานสู้คดี ผู้คนหลายพันในกรุงปารีสถูกกิโยติน แต่สุดท้ายรอแบ็สปีแยร์ก็ถูกยึดอำนาจโดยผู้นำปฏิวัติอื่น ๆ เพราะกลัวอำนาจของรอแบ็สปีแยร์ เรียกว่า ปฏิกิริยาเดือนแตร์มิดอร์ (Thermidorien Reaction)

คณะดิเร็กตัวร์ (ค.ศ. 1795 – 1799)

กลุ่มแตร์มิดอร์ขึ้นมามีอำนาจ ดำเนินนโยบายตรงข้ามกับมิคสัญญี ผ่อนคลายความสะพรึงกลัว ทัพฝรั่งเศสยึดเนเธอร์แลนด์ได้ใน ค.ศ. 1795 รัฐธรรมนูญแห่งปีที่ 3 (ค.ศ. 1795) ตั้งคณะดิเร็กตัวร์ (Directory) เป็นการปกครองใหม่ ประกอบดัวยดิเร็กเตอร์ 5 คน ซึ่งจะถูกเลือกตั้งให้ลงจากตำแหน่งไปหนึ่งคนทุกปี ทำหน้าที่บริหาร มีสภาอาวุโส (Council of Ancients) และสภาห้าร้อย (Council of Five Hundreds) เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บรรดาผู้นำในสภากองวังเชียงเดิมเกรงว่าฝ่ายตนจะต้องโทษทางการเมืองจึงพยายามจะเข้ามามีอำนาจในปกครองใหม่ ทำให้ประชาชนไม่พอใจ และฝ่ายสนับสนุนราชาธิปไตยก่อความวุนวายในกรุงปารีส นายทหารชื่อว่านโปเลียนทำการยิงปืนใหญ่ขู่เพียงนัดเดียว (Whiff of Grapeshot) การจลาจลก็สลายตัว เป็นผลงานชิ้นแรกของนโปเลียน

นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) เป็นชาวเกาะคอร์ซิกา เข้ามาเป็นทหารในฝรั่งเศส สมรสกับโจเซฟีน เดอ โบอาร์เนส์ (Josephine de Beauharnais) แม่หม้ายมีลูกติดสองคน นโปเลียนยกทัพฝรั่งเศสเข้าบุกอิตาลีและยึดคาบสมุทรอิตาลีได้ จัดตั้งรัฐบริวารของฝรั่งเศสจำนวนมากในอิตาลีได้แก่ สาธารณรัฐซิสอัลไพน์ (Cisalpine) สาธารณรัฐเวนิส สาธารณรัฐพาร์เธโนเปีย (Parthenopian Republic) จนในค.ศ. 1797 จักรวรรดิออสเตรียบรรลุสนธิสัญญาคัมโป-ฟอร์มิโอ (Campo-Formio) กับฝรั่งเศส ยอมมอบเบลเยียมและอิตาลีให้ฝรั่งเศส

ฝ่ายคณะดิเร็กตัวร์เห็นว่านโปเลียนกำลังได้รับวามนิยมในฐานะวีรบุรุษแห่งชาติและมีอำนาจมมากขึ้น จึงส่งนโปเลียนไปยังที่ห่างไกลคือการรุกรานอียิปต์ คณะดิเร็กตัวร์ต้องการรักษาอำนาจเกิดความวุ่นวายและขัดแย้งภายใจยึดอำนาจกันเอง การบุกอียิปต์ของนโปเลียนทำให้ชาติต่าง ๆ ในยุโรปรวมตัวกันอีกครั้งเป็นสัมพันธมิตรครั้งที่สอง (Second Coalition) เพื่อต่อต้านการขยายอำนาจของฝรั่งเศส นโปเลียนสามารถฝ่าวงล้อมของบริเตนออกมาจากอียิปต์ได้ใน ค.ศ. 1799 กลับมายังฝรั่งเศส ทำการยึดอำนาจจากคณะไดเร็กตัวร์ เรียกว่า เหตุการณ์รัฐประหาร 18 ฟรุกติดอร์ (18 Fructidor)

คณะกงสุล (ค.ศ. 1799 – 1804)

รัฐธรรมนูญแห่งปีที่ 8 (ค.ศ. 1799) ตั้งคณะกงสุล (Consulate) ประกอบด้วยกงสุล 3 คน หนึ่งในนั้นคือนโปเลียนเองขึ้นปกครองฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1800 นโปเลียนใช้อำนาจบีบบังคับให้คณะกงสุลเห็นชอบให้ตนเองเป็นกงสุลใหญ่ (First Consul) ในเวลาเดียวกันนโปเลียนเอาชนะออสเตรียได้ที่อิตาลีอีกครั้ง นำไปสู่สนธิสัญญาลูเนวิลล์ (Luneville) ออสเตรียยกเยอรมนีส่วนทางตะวันออกของแม่น้ำไรน์ทั้งหมดให้แก่ฝรั่งเศส นโปเลียนสนับสนุนให้ชาวฝรั่งเศสกลับมานับถือคริสต์ศาสนาอีกครั้งใน ค.ศ. 1801 โดยบรรลุข้อตกลงกับพระสันตปาปา ทางกรุงโรมยินยอมมอบอำนาจการปกครองศาสนาในฝรั่งเศสให้นโปเลียน ใน ค.ศ. 1802 บริเตนทำสนธิสัญญาอาเมียง (Amiens) ยอมคืนอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ที่ยึดไปให้แกฝรั่งเศส นโปเลียนใช้อิทธิพลอีกครั้งให้ตนเองเป็นกงสุลใหญ่ตลอดชีพ (First Consul for Life)

ยุคนโปเลียน

ดูบทความหลักที่: จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 1 และ นโปเลียน
พระจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ. 1804 นโปเลียนปราบดาภิเษกตนเองเป็นจักรพรรดิ เริ่มจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 1 (First Empire) พระเจ้านโปเลียนทรงปรับปรุงกองทัพฝรั่งเศสเป็น "กองทัพใหญ่" (Grand Armée) ในปี ค.ศ. 1805 การประกาศฝรั่งเศสเป็นจักรวรรดิทำให้ชาติต่างๆรวมตัวกันอีกครั้งเป็นสัมพันธมิตรครั้งที่สาม (Third Coaltion) พระเจ้านโปเลียนทรงนำทัพบุกเยอรมนี ชนะทัพออสเตรียที่อุล์ม (Ulm) แต่ทางทะเลพ่ายแพ้อังกฤษที่แหลมทราฟัลการ์ (Trafalgar) ชัยชนะที่อุล์มทำให้พระเจ้านโปเลียนทรงรุกคืบเข้าไปในออสเตรีย ชนะออสเตรียและรัสเซียที่เอาสเทอร์ลิทซ์ (Austerlitz) เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนโปเลียน กลุ่มสัมพันธมิตรครั้งที่สามจึงสลายตัวไปตามมาด้วยสนธิสัญญาเพรสบูร์ก (Pressburg) ยกเลิกจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิในเยอรมนีไป พระเจ้านโปเลียนตั้งสมาพันธรัฐแห่งไรน์ (Confederation of the Rhine) ขึ้นมาแทนที่เป็นรัฐบริวารของฝรั่งเศส

ความสำเร็จของนโปเลียนในเยอรมนีทำให้ปรัสเซียร่วมกับบริเทนและรัสเซียตั้งสัมพันธมิตรครั้งที่สี่ (Fourth Coalition) แต่ครั้งนี้ฝรั่งเศสแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วยุโรปและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบริวารต่างๆ นโปเลียนนำทัพบุกปรัสเซีย ได้รับชัยชนะที่เยนา-เออร์ชเตดท์ (Jena-Auerstedt) และชนะรัสเซียที่ฟรีดแลนด์ (Friedland) นำไปสู่สนธิสัญญาทิลซิท (Tilsit) ปรัสเซียสูญเสียดินแดนโปแลนด์ทางทิศตะวันออก กลายเป็นรัฐแกรนด์ดัชชีแห่งวอร์ซอว์ (Grand Duchy of Warsaw) ภายใต้การกำกับของฝรั่งเศส และจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย ทรงเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสและเข้าระบบภาคพื้นทวีป (Continental system) เพื่อตัดขาดบริเตนทางการค้าจากผืนทวีปยุโรป

จักรวรรดิฝรั่งเศส ขยายอาณาเขตสูงสุดเมื่อปี ค.ศ. 1811 สีทึบคือฝรั่งเศสปกครองโดยตรง สีจางคือรัฐบริวาร

สองประเทศ คือ สวีเดนและโปรตุเกส เป็นกลางและไม่ยอมเข้าร่วมระบบภาคพื้นทวีป จักรพรรดินโปเลียนทรงยกทัพบุกโปรตุเกสใน ค.ศ. 1807 แต่ก็ทรงฉวยโอกาสยึดประเทศสเปนในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 4 แห่งสเปน ราชวงศ์บูร์บง และยกราชสมบัติสเปนให้แก่พระอนุชาคือโจเซฟ โบนาปาร์ต (Joseph Bonaparte) เป็นกษัตริย์แห่งสเปน โปรตุเกสตกอยู่ในอาณัติของฝรั่งเศส แต่ชาวสเปนและชาวโปรตุเกสยังคงต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศส นำไปสู่สงครามคาบสมุทร (Peninsula War) สเปนและโปรตุเกสต่อต้านการปกครองของนโปเลียน โดยใช้การสงครามรูปแบบกองโจร (Guerilla Warfare) ฝ่ายบริเตนส่งดยุคแห่งเวลลิงตัน (Duke of Wellington) มาช่วยเหลือสเปนและโปรตุเกส

ในปี ค.ศ. 1809 ออสเตรียริเริ่มทำสงครามกับฝรั่งเศสอีกครั้ง ในสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่ห้า พระเจ้านโปเลียนทรงชนะออสเตรียที่แอสเปิร์น-เอสลิง (Aspern-Essling) และวากราม (Wagram) จนทำสนธิสัญญาเชินบรุนน์ (Schönbrunn) ออสเตรียเสียดินแดนเพิ่มเติมให้ฝรั่งเศส และนโปเลียนอภิเษกกับอาร์ชดัชเชสมารี-หลุยส์ (Archduchess Marie-Louis)

พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ทรงนำรัสเซียทำสงครามกับนโปเลียนอีกครั้ง ในค.ศ. 1812 นโปเลียนทรงนำทัพบุกรัสเซียกลางฤดูหนาวที่หนาวเหน็บ รัสเซียหลอกลวงให้ทัพฝรั่งเศสเดินทัพเข้าไปพบกับอากาศอันรุนแรงของฤดูหนาวรัสเซียทำให้ทหารฝรั่งเศสอดอาหารและหนาวตายจำนวนมาก แม้ทัพฝรั่งเศสจะไปถึงมอสโกแต่ทั้งเมืองมอสโกถูกเผาอย่างจงใจเพื่อไม่ให้เสบียงตกถึงมือนโปเลียน การบุกรัสเซียเป็นความพ่ายแพ้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนโปเลียน ชัยชนะของรัสเซียปลุกระดมชาติต่าง ๆ ให้รวมตัวกันทำสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่หก (Sixth Coalition) เอาชนะนโปเลียนในยุทธการที่ไลพ์ซิจ (Leipzig) ทำให้นโปเลียนถอยกลับฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ. 1813 จักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศสทรงถูกบังคับให้สละบัลลังก์ เพราะได้รับการต่อต้านจากชาวฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1814 สัมพันธมิตรเข้าบุกยึดกรุงปารีส ทำสนธิสัญญาฟงแตนโบล (Fontainebleau) เนรเทศนโปเลียนไปเกาะเอลบาในอิตาลี สิ้นสุดจักรวรรดิที่ 1

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย